วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จัดเรียงบทความ

ทำร้ายร่างกาย
               -  บุกรุกและทำร้ายร่างกาย
               -  ปรับทำร้ายร่างกายแต่บาดเจ็บสาหัส
               -  ทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส
               -  ทำร้ายจนภาวะหัวใจล้มเหลว

ลักษณะการกระทำผิด
               -  สวมหมวกนิรภัยปกปิดใบหน้า
               -  มีดแทงอวัยวะสำคัญครั้งเดียว
               -  ใช้ปืนยิงป้องกันตัวจากมีด
               -  ใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าโดยพลาด
               -  การกระทำโดยทารุณโหดร้าย
               -  ป้องกันเกินกว่าเหตุและพยายามฆ่า
               -  ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ

ร่วมกันกระทำผิดหรือชุลมุนต่อสู้
               -  ลักษณะของการชุลมุนต่อสู้
               -  เจตนาร่วมกันและความรับผิดในผลแห่งความตาย

ความผิดเกี่ยวกับศพ
               -  ความผิดเกี่ยวกับศพ

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
               -  อายุความข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
               -  หลักการสืบสวนสอบสวนโดยฉับพลัน

บุกรุกและทำร้ายร่างกาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280 / 2555
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 297, 362, 364, 365, 392
             จำเลยและนาย บำรุงกับพวกได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย และจำเลยพูดว่า "มึงแน่หรือที่อยู่ที่นี่มา 15 ถึง 16 ปี เอามันเลย" กับพูดว่า "ไอ้สัตว์ เดี๋ยวยิงทิ้งหมดเลย" อันเป็นความผิดฐาน บุกรุกและขู่ให้ผู้อื่นตกใจกลัว แต่การที่จำเลยพูดว่า “เอามันเลย” และนายบำรุงเข้าทำร้ายผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหายด้วยนั้น เป็นการที่จำเลยก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับนายบำรุงและพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ แต่การที่จำเลยร้อง บอกดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนให้นายบำรุงกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ศาลมีอำนาจวินิจฉัยปรับบทฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
             อนึ่ง ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิด 3 กรรม แยกเป็น ข้อรวม 3 ข้อ โดยข้อที่ 1 กล่าวแต่เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับนายบำรุง บุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ตามมาตรา 365 (2) และ (3) ประกอบมาตรา 364 เท่านั้น มิได้บรรยายฟ้องว่าร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 365 (1) ประกอบ มาตรา 364 แต่อย่างใด ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับ อันตรายสาหัส กล่าวในฟ้องข้อ 3 แยกต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 365 (1) ประกอบมาตรา 364 ด้วย จึงเป็นการเกินคำขอและมิได้กล่าวมาในฟ้อง แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องฐานทำร้ายร่างกายแยกต่างหากในฟ้องข้อ 3 แต่เมื่อข้อเท็จจริง ได้ความว่าเมื่อจำเลยและนายบำรุงเข้าไปในบ้านแล้ว นายบำรุงจึงได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยจำเลยบอกให้ทำร้ายต่อเนื่องใกล้ชิดกัน เห็นได้ว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรงต่อการที่จะให้มีการทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งการทำร้ายของนายบำรุงก็เป็นเหตุหนึ่งที่ส่อแสดงถึงความไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถาน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 อยู่ด้วย การที่จำเลยบอกให้นายบำรุงทำร้ายร่างกายจึงเป็นกรรมเดียวกันกับการร่วมกันบุกรุกบ้านอันเป็นเคหสถาน
             จำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกาย ร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร และฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 86, มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 392 ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายและร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกัน บุกรุกฯ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ความผิดที่เกี่ยวกับศพ

ลักษณะ ๑๓ ความผิดเกี่ยวกับศพ

             มาตรา ๓๖๖/๑  ผู้ใดกระทำชำเราศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
             การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของศพ
             มาตรา ๓๖๖/๒  ผู้ใดกระทำอนาจารแก่ศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             มาตรา ๓๖๖/๓  ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพ ส่วนของศพ อัฐิ หรือเถ้าของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             มาตรา ๓๖๖/๔  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๗๒๙/๒๕๕๖
ป.อ. มาตรา ๕๙, ๒๘๘
                ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “การกระทำโดยเจตนา ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น” วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”
                ดังนั้น การที่จะถือว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาฆ่าได้นั้น จำเลยที่ ๑ ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ คือ (๑) ผู้ใด (๒) ฆ่า และ (๓) ผู้อื่น กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ต้องรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการ “ฆ่า” และรู้ด้วยว่าวัตถุแห่งการกระทำเป็น “ผู้อื่น” (หมายความว่าผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่) หากจำเลยที่ ๑ เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย (เป็นศพ) แล้วก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาฆ่าผู้อื่น
               ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ ๑ พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติ แล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำ โดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งโจทก์ก็ฎีกายอมรับว่าขณะที่จำเลยที่ ๑ นำผู้ตายไปทิ้งอ่างเก็บน้ำนั้นจำเลยที่ ๑ สำคัญผิดว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงถือว่ามีเจตนาฆ่าผู้ตายหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ ๑ มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดอันจะถือว่าจำเลยที่ ๑ ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๕๙ วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ แต่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามมาตรา ๒๙๑

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๑๔๔/๒๕๔๕
ป.พ.พ. มาตรา ๑๕
ป.อ. มาตรา ๕๙, ๒๗๗ วรรคสอง, ๒๘๙ (๖)
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๔, ๑๗๖ วรรคหนึ่ง, ๒๒๗
                คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนที่รับสารภาพว่าเป็นผู้ฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ยันจำเลย เพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔
                จำเลยให้การรับสารภาพแล้วยังนำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและให้ถ่ายรูปไว้ด้วย โดยจำเลยมิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น และจากการตรวจกางเกงชั้นในของจำเลยที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดมาจากจำเลยที่นุ่งอยู่ในวันถูกจับกุมส่งไปตรวจหารหัสพันธุ์กรรม (ดีเอ็นเอ)ได้ความว่าได้รหัสพันธุ์กรรมตรงกับคราบเลือดของผู้ตาย น่าเชื่อว่าคราบเลือดที่ติดอยู่กับกางเกงชั้นในของจำเลยเป็นของผู้ตาย พฤติการณ์ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยมีน้ำหนักพอที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่งแล้ว
                แม้ผลจากการตรวจสภาพศพ จะระบุเหตุการตายของผู้ตายว่าขาดอากาศหายใจจากถูกกดรัดทางเดินหายใจก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงการตายของผู้ตายเท่านั้น โดยมิได้แสดงให้เห็นว่าผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนหรือขณะหรือภายหลังที่จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้ว และผลการตรวจสภาพศพผู้ตายดังกล่าวในส่วนคอที่ระบุว่าเนื้อเยื่อบริเวณคอช้ำเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งสภาพกล่องเสียงและหลอดลมต่างก็ปกติเช่นนี้ เหตุการณ์ตายของผู้ตายน่าจะไม่ใช่เกิดจากที่จำเลยบีบคอผู้ตาย
                ดังนั้น การที่จำเลยให้การว่า จำเลยใช้หมอนปิดส่วนใบหน้าผู้ตายแล้วใช้มือทั้งสองกดทับบริเวณจมูกและปากผู้ตายเพื่อไม่ให้ส่งเสียงร้อง แต่ผู้ตายยังดิ้นรนขัดขืน จำเลยจึงใช้มือกดหมอนไม่ให้ผู้ตายหายใจออกด้วยต้องการให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อใช้เวลากดนานประมาณ ๓ นาที ผู้ตายที่ยังเป็นเด็กก็แน่นิ่งไป เช่นนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว
                การที่จำเลยคิดว่าผู้ตายเพียงสลบไปจึงข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย แม้ขณะที่ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายนั้น จำเลยไม่ทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นแต่มาทราบภายหลังจากการข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายเสร็จว่าผู้ตายตายแล้ว ก็หาทำให้จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายไม่ เพราะผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อน ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สวมหมวกนิรภัยปกปิดใบหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1321/2545
ป.อ. มาตรา 33, 83, 289 (4)
ป.วิ.อ. มาตรา 226 , 227
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 122
             ขณะที่นาย บ. ซึ่งมีอาชีพขับรถยนต์โดยสารสองแถวรับจ้างจอดรถให้คนร้ายซึ่งโดยสารมากับรถลงจากรถในที่เกิดเหตุ ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายแล้วคนร้ายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยหลบหนีไป แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้รับฟังบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การของพยานทั้งสองไว้ไม่ถูกต้อง จึงรับฟังบันทึกคำให้การของพยานทั้งสองประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
              รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับมาซึ่งปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า มีแผ่นป้ายทะเบียนถูกต้อง แต่ขณะเกิดเหตุกลับปรากฏว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวมิได้ติดแผ่นป้ายทะเบียน แสดงให้เห็นว่าจำเลยเตรียมการมาเพื่อรับคนร้ายหลบหนีตามที่ร่วมกับคนร้ายวางแผนไว้ เพราะก่อนเกิดเหตุคนร้ายเดินเข้าไปชำระค่าโดยสารให้แก่ผู้ตาย แล้วได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันทีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้เถียงกันหรือทะเลาะกันแต่อย่างใด อันเป็นการวางแผนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งรวมถึงแผนในการหลบหนีด้วยว่าจะหลบหนีด้วยยานพาหนะอะไร จึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยร่วมกับคนร้ายที่หลบหนีกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
             ธนบัตรฉบับละ 50 บาท ของกลางเป็นธนบัตรที่คนร้ายส่งให้แก่ผู้ตายเป็นค่าโดยสาร ก่อนที่ผู้ตายถูกยิง และหมวกนิรภัยที่จำเลยสวมขณะเกิดเหตุอันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 122 มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดโดยตรง ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นชัดว่าจำเลยมีเจตนาสวมเพื่อปกปิดใบหน้าในการกระทำผิด ดังนั้น ธนบัตร 50 บาทและหมวกนิรภัยของกลางดังกล่าวจึงมิใช่ของที่ใช้ในการกระทำความผิด

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ใช้ปืนยิงป้องกันตัวจากมีด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  223/2540
ป.อ. มาตรา 69
ป.วิ.อ. มาตรา 195 , 225
           จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ไปยืนพูดจาเพื่อปรับความเข้าใจกับผู้ตายซึ่งมีอาการมึนเมาสุรา แต่ไม่สำเร็จและผู้ตายได้ใช้มีดฟันจำเลยก่อน แต่ไม่ถูก ซึ่งหากจำเลยเพียงแต่ใช้อาวุธปืนที่พกติดตัวออกมาขู่หรือยิงขู่ผู้ตายผู้ตายก็ไม่น่าจะกล้าฟันทำร้ายจำเลยอีกต่อไป การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงถูกผู้ตายที่บริเวณลำคอและช่วงบน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ แม้ยิงเพียงนัดเดียวก็เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
           ปัญหาว่าเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

หมายเหตุ
          การกระทำที่ถือว่าเป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จะต้องเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ หากการกระทำโดยป้องกันที่ไม่พอสมควรแก่เหตุถือว่าเป็นความผิดมีบัญญัติไว้ตามมาตรา 69 และเป็นเหตุเพียงให้ศาลลดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดเพียงใดก็ได้เท่านั้น
          การกระทำโดยป้องกันที่จะถือว่าพอสมควรแก่เหตุไม่มีบทบัญญัติใดให้ความหมายหรือกำหนดหลักเกณฑ์ ขอบเขตไว้ชัดเจนว่าแค่ไหนถือเป็นพอสมควรแก่เหตุ การศึกษาการกระทำที่จะถือว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุจะศึกษาในลักษณะตรงกันข้ามโดยศึกษาว่าการกระทำใดที่ไม่พอสมควรแก่เหตุ หรือเกินขอบเขตซึ่งมาตรา 69 บัญญัติไว้ มีอยู่ 2 กรณี คือ
          1. การกระทำโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ได้แก่
          1.1 การกระทำโดยป้องกันนั้นเกินวิถีทางน้อยที่สุดกับภยันตรายกล่าวคือ ผู้กระทำการป้องกันต้องใช้มาตรการขั้นต่ำสุดในการกระทำเพื่อให้พ้นจากภยันตราย หากไม่ใช้มาตรการดังกล่าวแล้วก็ไม่อาจที่จะพ้นภยันตรายไปได้ ถ้ามีวิธีการที่จะพ้นภยันตรายได้หลายวิธีจะต้องเลือกใช้วิธีขั้นต่ำที่สุด และ
          1.2 การกระทำโดยป้องกันที่เกินสัดส่วนกับภยันตราย หมายถึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เป็นภยันตรายเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น หากผู้ก่อภยันตรายใช้อาวุธปืนยิงผู้ใช้สิทธิป้องกันย่อมใช้อาวุธปืนป้องกันได้ ถือว่าไม่เกินสัดส่วน ในเรื่องสัดส่วนภยันตรายนี้อาวุธของผู้ก่อภยันตรายกับอาวุธที่ผู้ใช้สิทธิป้องกันใช้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการที่จะพิจารณาประกอบว่าเกินสัดส่วนหรือไม่ มิได้จำกัดตายตัวลงไปว่าหากอาวุธที่ใช้มีความร้ายแรงต่างกันจะถือว่าเกินสัดส่วนเสมอไป แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงภยันตรายที่ถูกประทุษร้ายกับภยันตรายที่ตอบโต้ว่าเกินสัดส่วนกันหรือไม่เป็นข้อสำคัญ เช่นคนร้ายใช้มีดดาบยาว 1 วา เงื้อเหนือศีรษะจะฟันขณะอยู่ห่างเพียง1 วา ผู้ถูกประทุษร้ายย่อมใช้ปืนยิงป้องกันได้ไม่เกินสัดส่วน เพราะภยันตรายที่จะเกิดขึ้นร้ายแรงถึงชีวิต และภยันตรายที่ตอบโต้ก็ร้ายแรงถึงชีวิตเช่นกัน
          เกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ในการป้องกันซึ่งแตกต่างกับอาวุธที่ผู้ถูกประทุษร้ายศาลฎีกาเคยวินิจฉัยถือว่าพอสมควรแก่เหตุเช่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2520 วินิจฉัยว่าผู้ตายชกต่อยบิดาจำเลยล้มลง แล้วเตะและจะกระทืบซ้ำ จำเลยยิงผู้ตาย 1 นัดผู้ตายแย่งปืนลั่นขึ้น 1 นัด เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2521 วินิจฉัยว่า ช. กับจำเลยโต้เถียงกันแล้วจำเลยถูก ช. กับพวกรุมชก ส. ถือค้อนเข้าช่วย ช. จำเลยยิง ส. 1 นัด ถูกที่ต้นคอและใบหูขวา เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17/2520 วินิจฉัยว่า บุตรจำเลยถูก ช.ตีจำเลยเข้าห้าม ช. ตีจำเลยด้วยไม้แก่น จำเลยล้มลง ช.จะตีอีก จำเลยยิง ช. 1 นัด กระสุนถูก ช. และ อ. เป็นอันตรายสาหัสทั้งสองคน ดังนี้เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
          การกระทำโดยป้องกันใด ไม่เกินสมควรแก่เหตุจะต้องพิจารณาให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการคือ ต้องกระทำด้วยวิถีทางที่น้อยที่สุดและต้องได้สัดส่วนกับภยันตราย หากไม่ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการถือว่าเกินสมควรแก่เหตุ อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์นี้ก็ไม่อาจชี้ชัดเจนลงไปเสียทีเดียวว่าการกระทำโดยป้องกันใดเกินสมควรแก่เหตุจึงเป็นสิ่งที่ศาลซึ่งเป็นผู้ใช้กฎหมายจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดยอาศัยระดับความคิดของบุคคลทั่วไปผู้ตกอยู่ในฐานะเช่นเดียวกันกับผู้ถูกประทุษร้ายโดยละเมิดต่อกฎหมายว่าสมควรเพียงใดทำนองเดียวกับการวินิจฉัยว่าเล็งเห็นผลหรือไม่ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ความระมัดระวังที่จะต้องมีในเรื่องการกระทำโดยประมาททั้งนี้ต้องคำนึงถึงความฉุกเฉินที่บังคับให้ผู้ต้องรับภยันตรายที่ใกล้จะถึงให้ตัดสินใจโดยฉับพลัน ซึ่งอาจเห็นภยันตรายร้ายแรงกว่าความเป็นจริง และต้องคำนึงถึงความยากในการที่จะยับยั้งชั่งใจในภาวะฉุกเฉินประกอบด้วย