วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เจตนาร่วมกันและความรับผิดในผลแห่งความตาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๔๐/๒๕๕๗
ป.อ. มาตรา ๓๓, ๘๓, ๒๘๘ , ๒๙๐ วรรคแรก
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖/๓ วรรคสอง (๒)
                นางสาว ณ. และ นางสาว ร. เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยบันทึกคำให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยและหลานร่วมกันชกต่อยผู้ตาย หลานจำเลยใช้มีดแทงที่หน้าท้อง ๑ ครั้ง เมื่อผู้ตายล้มจำเลยกระทืบซ้ำ การที่นางสาว ร. เบิกความแตกต่างจากที่ให้การเป็นพยานไว้ในชั้นสอบสวน โดยชั้นสอบสวน นางสาว ร. ให้การเป็นพยานวันเดียวกับที่เกิดเหตุและหลังเวลาเกิดเหตุไม่นาน จึงยังไม่ทันมีเวลาแต่งข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลย และชั้นพิจารณานางสาว ร. มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าคำให้การของตนชั้นสอบสวนไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบตรงไหน อย่างไร เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะและข้อเท็จจริงแวดล้อมแล้ว เชื่อว่าคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาว ร. เป็นความจริงยิ่งกว่าชั้นพิจารณา
               ส่วนนางสาว ณ. โจทก์ไม่สามารถติดตามนำตัวมาเบิกความเป็นพยานได้คงมีแต่คำให้การชั้นสอบสวน ยืนยันว่าเห็นจำเลยร่วมกับหลานทำร้ายผู้ตายและหลานจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายโดยจำเลยกระทืบผู้ตายด้วย แม้คำให้การชั้นสอบสวนของนางสาว ณ. เป็นพยานบอกเล่าก็ตาม แต่การไม่สามารถติดตามนำตัวนางสาว ณ. มาเบิกความได้ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม สามารถรับฟังคำให้การชั้นสอบสวน ของนางสาว ณ. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖/๓ วรรคสอง (๒) นอกจากนี้ ดาบตำรวจ ช. เบิกความว่าเห็นมีเลือดออกที่แขนซ้ายของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าร่วมกับหลานทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายมีเลือดออก และยังเป็นการสนับสนุนคำให้การชั้นสอบสวนของ ณ. และ นางสาว ร. ให้ มีน้ำหนักน่าเชื่อมากขึ้น
                การที่จำเลยเข้าร่วมกับหลานชกต่อยผู้ตาย จำเลยมีแต่เพียงเจตนาทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่หลานแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยต้องรับผิดในผลแห่งความตายของผู้ตายด้วย จำเลยคงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๗๐/๒๕๕๔
ป.อ. ตัวการ (มาตรา ๘๓)
                   ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ เพียงชกต่อยโจทก์ร่วม แล้วเสียหลักล้มลงไปด้วยกัน โจทก์ร่วมนั่งคร่อมจำเลยที่ ๑  จำเลยที่ ๒ ใช้มีดทำครัวที่หยิบได้ในที่เกิดเหตุแทงโจทก์ร่วมทางด้านหลัง ซึ่งเป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ ๒ โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง หาได้มีการสมคบกันมาก่อนไม่ การที่จำเลยที่ ๒ ใช้มีดแทงโดยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังเช่นนี้ เป็นเจตนาเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒ ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ ๑ จะคาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๒ จะใช้มีดแทงโจทก์ร่วม ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาร่วมกันเป็นตัวการพยายามฆ่าโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๙๑/๒๕๕๔
ป.อ. ตัวการ  ร่วมทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นตาย  (มาตรา ๘๓, ๒๙๐)
            การที่พวกของจำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุเข้าไปชกต่อยผู้ตายกับพวกก่อน แล้วจำเลยทั้งสองเข้าไปช่วยชกต่อยนั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกับพวกดังกล่าวทำร้ายผู้ตายกับพวก แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ทราบมาก่อนว่าพวกของตนมีมีดติดตัวมาด้วย แต่เมื่อพวกของจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้ตายโดยใช้มีดแทง และผู้ตายถึงแก่ความตายโดยเป็นผลมาจากการถูกทำร้ายดังกล่าว จำเลยทั้งสองต้องรับผลจากการกระทำที่พวกของตนแทงทำร้ายผู้ตายด้วย

ทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1001/2547
ป.อ. มาตรา 297
ป.วิ.อ. มาตรา 218
               ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้นแม้จำเลยจะทำร้ายผู้เสียหายโดยมิได้มีเจตนาทำให้แท้งลูก เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 297(5)
               ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะผู้เสียหายนั่งอยู่บนแคร่จำเลยเดินเข้าไปตบผู้เสียหายจนตกจากแคร่ แล้วจิกผมให้ศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับเสา เมื่อมีผู้เข้าห้าม จำเลยก็ถีบที่ท้องของผู้เสียหาย อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2530
ป.อ. มาตรา 297(8)
                  ผู้เสียหายถูกแทงด้วยมีดปลายแหลมที่หน้าอกซ้าย ซึ่งเป็นที่สำคัญ หากปลายมีดเข้าไปถึงหัวใจหรือหลอดลมใหญ่และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็อาจถึงแก่ความตายได้ ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 8 วัน แล้วกลับมารักษาตัวที่บ้านอีก 1 เดือน แผลภายนอกหาย แต่ภายในยังเจ็บและเสียวอยู่ ผู้เสียหายต้องเลิกอาชีพรับจ้างไปทำงานอย่างอื่น เพราะไม่สามารถทำงานหนักต่อไปได้ ถึงขณะเบิกความก็ยังเจ็บหน้าอกอยู่เป็นบางครั้ง ดังนี้ ถือได้ว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 แล้ว

มีดแทงอวัยวะสำคัญครั้งเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกา ๖๖๙๓/๒๕๕๔
ป.อ.  เจตนาฆ่า   พยายาม  (มาตรา ๒๘๘, ๘๐)
               แม้ผู้เสียหายกับจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนถึงขนาดที่จำเลยจะเอาชีวิตผู้เสียหาย และจำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว เนื่องจากทะเลาะวิวาทกันก็ตาม แต่นายแพทย์ผู้ตรวจรักษาตรวจร่างกายผู้เสียหายพบบาดแผลขอบเรียบกว้าง ๒ เซนติเมตร ที่ชายโครงด้านซ้าย มีลมเข้าไปในปอด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาภายใน ๖ ชั่วโมง อาจถึงแก่ชีวิตได้ การที่มีลมเข้าไปในปอดเป็นผลมาจากที่จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมของกลางยาว ๕ นิ้ว แทงอย่างรุนแรงจนลึกถึงปอด และการแทงที่ชายโครงด้านซ้ายหลังซึ่งมีอวัยวะสำคัญเกี่ยวพันถึงระบบหายใจ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกา ๖๖๙๒/๒๕๕๔
ป.วิ.อ.  สืบประกอบคำรับสารภาพ (มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง)
                 ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง คดีนี้ได้ความว่า จำเลยกำลังวิ่งหลบหนีจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ โดยผู้เสียหายเข้าสกัดหน้าจำเลยไว้ แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายในลักษณะทันทีทันใด จำเลยย่อมไม่มีโอกาสเลือก ทั้งจำเลยแทงเพียงครั้งเดียว แล้ววิ่งหลบหนีไปไม่ได้แทงซ้ำอีก ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ อาการบาดเจ็บของผู้เสียหายใช้เวลารักษา ๒ สัปดาห์ และโจทก์ก็ไม่ได้นำแพทย์ผู้รักษาผู้เสียหายมาเบิกความว่า บาดแผลของผู้เสียหายจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้เพราะอะไร เพียงอ้างส่งผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เท่านั้น พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงฟังได้ว่าจำเลยมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๘๗๐/๒๕๔๐
ป.อ. มาตรา ๕๙ , ๒๘๘
                แม้จำเลยกับผู้เสียหายจะเป็นญาติพี่น้องกัน สาเหตุแห่งการทำร้ายเกิดจาก จำเลยโกรธที่ผู้เสียหายว่ากล่าวตักเตือนให้จำเลยเลิกดื่มสุรา ติดต่อกันมาสองวันแล้ว จำเลยได้ลอบเข้าไปแทงผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนหลับอยู่ที่เตียงผ้าใบใต้ถุนบ้านหนึ่งที จำเลยใช้มีดปลายแหลมยาว ๑ ฟุต เฉพาะตัวมีดยาว ๘ นิ้ว เลือกแทงที่ท้องของผู้เสียหายอย่างแรงบาดแผลที่หน้าท้องยาว ๔ เซนติเมตร ลึกถึง ๔ นิ้ว ทะลุลำไส้เล็ก ตัดเส้นโลหิตใหญ่ฉีกขาด ผู้เสียหายมีเลือดตกในช่องท้องประมาณ ๒ ลิตร แพทย์ลงความเห็นว่าถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดอย่างรีบด่วนอาจทำให้ถึงตายได้ภายใน ๑ ชั่วโมง จำเลยใช้มีดขนาดใหญ่มีความยาวและแหลมคมแทงที่ท้องอันเป็นอวัยวะสำคัญของผู้เสียหาย ถึงแม้จำเลยจะมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย แต่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลว่าอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ ย่อมถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคสอง
                การที่จำเลยไม่แทงซ้ำอีก ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสจะทำได้ ก็ไม่ทำให้ความผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เพราะเจตนาโดยเล็งเห็นผลนั้น มุ่งถึงลักษณะแห่งการกระทำและผลของการกระทำที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลัก มิได้มุ่งถึงเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก เช่น ใช้อาวุธปืนยิงนกที่จับอยู่ขอนไม้ใกล้ ๆ กับที่มีคนนั่งอยู่ ผู้ยิงย่อมเล็งเห็นผลว่ากระสุนปืนอาจพลาดไปถูกคนได้ ซึ่งหากกระสุนปืนพลาดไปถูกคนตาย ผู้ยิงย่อมมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาทั้ง ๆ ที่ไม่มีเจตนาจะยิงคนเลย กรณีของจำเลยก็เช่นกัน เมื่อผู้เสียหายไม่ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า
                ส่วนการกระทำโดยบันดาลโทสะต้องเกิดจากการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม และต้องกระทำต่อผู้ที่ข่มเหงในขณะนั้น ผู้เสียหายเพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือน แม้จะด่าว่าจำเลยบ้าง ก็ไม่ใช่เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม อีกทั้งผู้เสียหายก็ได้เลิกด่าและหนีไปนอนจนหลับแล้ว จำเลยลอบเข้าไปแทงขณะที่ผู้เสียหายนอนหลับจะอ้างเหตุบันดาลโทสะ หาได้ไม่

ลักษณะของการชุลมุนต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3713/2531
ป.อ. มาตรา 288, 294
                โจทก์มีนายวิสุทธิ์ นายพิสิทธิ์ และนายสมโชค ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเป็นพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงทำร้ายนายพงษ์ศักดิ์ ผู้ตาย แต่พยานโจทก์ทั้งสามนี้กลับเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์เดียวกันนี้ไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1800/2528 ของศาลชั้นต้นว่า คนร้ายถือมีดมีหลายคน ที่สำคัญไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนแทงทำร้ายผู้ตายแต่อย่างใดโดยเฉพาะนายวิสุทธิ์เบิกความว่า นายสงค์ หรือสงคราม เป็นคนใช้มีดแทงทำร้ายผู้ตาย ส่วนนายพิสิทธิ์ กับนายสมโชค เบิกความในคดีก่อนในส่วนที่เกี่ยวกับคนร้ายรายนี้ว่า มีนายเขียว(ชื่อเหมือนกันกับชื่อจำเลยในคดีนี้) ยืนอยู่ในกลุ่มของนายสงค์หรือสงคราม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 คนในขณะเกิดเหตุด้วย สำหรับคดีนี้นายวิสุทธิ์เบิกความว่า จำเลยใช้มีดแทงที่ท้องของผู้ตาย นายพิสิทธิ์เบิกความว่า จำเลยแทงทำร้ายผู้ตาย 2 ครั้งคือที่ท้องและหลัง ส่วนนายสมโชคเบิกความตอนแรกว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยถือเหล็กขูดซาฟท์ แต่เบิกความตอนแทงทำร้ายผู้ตายว่าจำเลยใช้มีดแทงอย่างไรก็ดีตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตายท้ายฟ้องปรากฏว่าผู้ตายถูกแทงมีบาดแผล 2 แผล คือที่บริเวณหลังด้านซ้ายกับที่บริเวณหลังด้านขวา หาใช่ถูกแทงที่ท้องดังพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไม่ เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดต่อลักษณะสภาพบาดแผลของผู้ตาย ประกอบกับได้ความว่าพยานโจทก์ก็ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยจนต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด และไม่ทราบว่าถูกผู้ร่วมในการชุลมุนคนไหนแทงทำร้าย รวมทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีคนแทงทำร้ายผู้ตายซึ่งเป็นสาระสำคัญ 2 ครั้ง แตกต่างกันไม่อยู่กับร่องรอยเช่นนี้ ทำให้น่าเชื่อว่าพยานโจทก์คงเห็นไม่ถนัดหรือไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้ร่วมในการชุลมุนคนไหนใช้มีดแทงทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
              เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายในขณะเกิดชุลมุนต่อสู้หรือสมัครใจวิวาทกันระหว่างฝ่ายผู้ตายและฝ่ายจำเลยซึ่งได้เข้าร่วมในการชุลมุนตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เข้าร่วมในการชุลมุนคนไหนใช้มีดแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเช่นนี้ จะถือว่าผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  791 - 792/2504
ป.อ. มาตรา 83, 288, 294
               กรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปและมีบุคคลถึงตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 นั้น หมายถึงกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกันใครได้ทำร้ายผู้ตายถึงตาย ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายหนึ่งกลุ้มรุมกันทำร้ายผู้ตายถึงตาย ฝ่ายนั้นต้องรับผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนา (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2504)