วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สวมหมวกนิรภัยปกปิดใบหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1321/2545
ป.อ. มาตรา 33, 83, 289 (4)
ป.วิ.อ. มาตรา 226 , 227
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 122
             ขณะที่นาย บ. ซึ่งมีอาชีพขับรถยนต์โดยสารสองแถวรับจ้างจอดรถให้คนร้ายซึ่งโดยสารมากับรถลงจากรถในที่เกิดเหตุ ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายแล้วคนร้ายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยหลบหนีไป แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้รับฟังบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การของพยานทั้งสองไว้ไม่ถูกต้อง จึงรับฟังบันทึกคำให้การของพยานทั้งสองประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
              รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับมาซึ่งปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า มีแผ่นป้ายทะเบียนถูกต้อง แต่ขณะเกิดเหตุกลับปรากฏว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวมิได้ติดแผ่นป้ายทะเบียน แสดงให้เห็นว่าจำเลยเตรียมการมาเพื่อรับคนร้ายหลบหนีตามที่ร่วมกับคนร้ายวางแผนไว้ เพราะก่อนเกิดเหตุคนร้ายเดินเข้าไปชำระค่าโดยสารให้แก่ผู้ตาย แล้วได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันทีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้เถียงกันหรือทะเลาะกันแต่อย่างใด อันเป็นการวางแผนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งรวมถึงแผนในการหลบหนีด้วยว่าจะหลบหนีด้วยยานพาหนะอะไร จึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยร่วมกับคนร้ายที่หลบหนีกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
             ธนบัตรฉบับละ 50 บาท ของกลางเป็นธนบัตรที่คนร้ายส่งให้แก่ผู้ตายเป็นค่าโดยสาร ก่อนที่ผู้ตายถูกยิง และหมวกนิรภัยที่จำเลยสวมขณะเกิดเหตุอันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 122 มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดโดยตรง ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นชัดว่าจำเลยมีเจตนาสวมเพื่อปกปิดใบหน้าในการกระทำผิด ดังนั้น ธนบัตร 50 บาทและหมวกนิรภัยของกลางดังกล่าวจึงมิใช่ของที่ใช้ในการกระทำความผิด

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ใช้ปืนยิงป้องกันตัวจากมีด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  223/2540
ป.อ. มาตรา 69
ป.วิ.อ. มาตรา 195 , 225
           จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ไปยืนพูดจาเพื่อปรับความเข้าใจกับผู้ตายซึ่งมีอาการมึนเมาสุรา แต่ไม่สำเร็จและผู้ตายได้ใช้มีดฟันจำเลยก่อน แต่ไม่ถูก ซึ่งหากจำเลยเพียงแต่ใช้อาวุธปืนที่พกติดตัวออกมาขู่หรือยิงขู่ผู้ตายผู้ตายก็ไม่น่าจะกล้าฟันทำร้ายจำเลยอีกต่อไป การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงถูกผู้ตายที่บริเวณลำคอและช่วงบน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ แม้ยิงเพียงนัดเดียวก็เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
           ปัญหาว่าเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

หมายเหตุ
          การกระทำที่ถือว่าเป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จะต้องเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ หากการกระทำโดยป้องกันที่ไม่พอสมควรแก่เหตุถือว่าเป็นความผิดมีบัญญัติไว้ตามมาตรา 69 และเป็นเหตุเพียงให้ศาลลดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดเพียงใดก็ได้เท่านั้น
          การกระทำโดยป้องกันที่จะถือว่าพอสมควรแก่เหตุไม่มีบทบัญญัติใดให้ความหมายหรือกำหนดหลักเกณฑ์ ขอบเขตไว้ชัดเจนว่าแค่ไหนถือเป็นพอสมควรแก่เหตุ การศึกษาการกระทำที่จะถือว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุจะศึกษาในลักษณะตรงกันข้ามโดยศึกษาว่าการกระทำใดที่ไม่พอสมควรแก่เหตุ หรือเกินขอบเขตซึ่งมาตรา 69 บัญญัติไว้ มีอยู่ 2 กรณี คือ
          1. การกระทำโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ได้แก่
          1.1 การกระทำโดยป้องกันนั้นเกินวิถีทางน้อยที่สุดกับภยันตรายกล่าวคือ ผู้กระทำการป้องกันต้องใช้มาตรการขั้นต่ำสุดในการกระทำเพื่อให้พ้นจากภยันตราย หากไม่ใช้มาตรการดังกล่าวแล้วก็ไม่อาจที่จะพ้นภยันตรายไปได้ ถ้ามีวิธีการที่จะพ้นภยันตรายได้หลายวิธีจะต้องเลือกใช้วิธีขั้นต่ำที่สุด และ
          1.2 การกระทำโดยป้องกันที่เกินสัดส่วนกับภยันตราย หมายถึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เป็นภยันตรายเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น หากผู้ก่อภยันตรายใช้อาวุธปืนยิงผู้ใช้สิทธิป้องกันย่อมใช้อาวุธปืนป้องกันได้ ถือว่าไม่เกินสัดส่วน ในเรื่องสัดส่วนภยันตรายนี้อาวุธของผู้ก่อภยันตรายกับอาวุธที่ผู้ใช้สิทธิป้องกันใช้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการที่จะพิจารณาประกอบว่าเกินสัดส่วนหรือไม่ มิได้จำกัดตายตัวลงไปว่าหากอาวุธที่ใช้มีความร้ายแรงต่างกันจะถือว่าเกินสัดส่วนเสมอไป แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงภยันตรายที่ถูกประทุษร้ายกับภยันตรายที่ตอบโต้ว่าเกินสัดส่วนกันหรือไม่เป็นข้อสำคัญ เช่นคนร้ายใช้มีดดาบยาว 1 วา เงื้อเหนือศีรษะจะฟันขณะอยู่ห่างเพียง1 วา ผู้ถูกประทุษร้ายย่อมใช้ปืนยิงป้องกันได้ไม่เกินสัดส่วน เพราะภยันตรายที่จะเกิดขึ้นร้ายแรงถึงชีวิต และภยันตรายที่ตอบโต้ก็ร้ายแรงถึงชีวิตเช่นกัน
          เกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ในการป้องกันซึ่งแตกต่างกับอาวุธที่ผู้ถูกประทุษร้ายศาลฎีกาเคยวินิจฉัยถือว่าพอสมควรแก่เหตุเช่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2520 วินิจฉัยว่าผู้ตายชกต่อยบิดาจำเลยล้มลง แล้วเตะและจะกระทืบซ้ำ จำเลยยิงผู้ตาย 1 นัดผู้ตายแย่งปืนลั่นขึ้น 1 นัด เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2521 วินิจฉัยว่า ช. กับจำเลยโต้เถียงกันแล้วจำเลยถูก ช. กับพวกรุมชก ส. ถือค้อนเข้าช่วย ช. จำเลยยิง ส. 1 นัด ถูกที่ต้นคอและใบหูขวา เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17/2520 วินิจฉัยว่า บุตรจำเลยถูก ช.ตีจำเลยเข้าห้าม ช. ตีจำเลยด้วยไม้แก่น จำเลยล้มลง ช.จะตีอีก จำเลยยิง ช. 1 นัด กระสุนถูก ช. และ อ. เป็นอันตรายสาหัสทั้งสองคน ดังนี้เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
          การกระทำโดยป้องกันใด ไม่เกินสมควรแก่เหตุจะต้องพิจารณาให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการคือ ต้องกระทำด้วยวิถีทางที่น้อยที่สุดและต้องได้สัดส่วนกับภยันตราย หากไม่ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการถือว่าเกินสมควรแก่เหตุ อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์นี้ก็ไม่อาจชี้ชัดเจนลงไปเสียทีเดียวว่าการกระทำโดยป้องกันใดเกินสมควรแก่เหตุจึงเป็นสิ่งที่ศาลซึ่งเป็นผู้ใช้กฎหมายจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดยอาศัยระดับความคิดของบุคคลทั่วไปผู้ตกอยู่ในฐานะเช่นเดียวกันกับผู้ถูกประทุษร้ายโดยละเมิดต่อกฎหมายว่าสมควรเพียงใดทำนองเดียวกับการวินิจฉัยว่าเล็งเห็นผลหรือไม่ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ความระมัดระวังที่จะต้องมีในเรื่องการกระทำโดยประมาททั้งนี้ต้องคำนึงถึงความฉุกเฉินที่บังคับให้ผู้ต้องรับภยันตรายที่ใกล้จะถึงให้ตัดสินใจโดยฉับพลัน ซึ่งอาจเห็นภยันตรายร้ายแรงกว่าความเป็นจริง และต้องคำนึงถึงความยากในการที่จะยับยั้งชั่งใจในภาวะฉุกเฉินประกอบด้วย