วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

ปรับทำร้ายร่างกายแต่บาดเจ็บสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  354/2541
ป.วิ.อ. มาตรา 28, 37, 39
             โจทก์แจ้งความกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ เมื่อพนักงานสอบสวนโทรศัพท์สอบถามไปยังโรงพยาบาลที่โจทก์ไปให้แพทย์ตรวจรักษามาก่อนหน้านั้นได้ความว่า โจทก์ถูกทำร้ายเพียงมีรอยฟกซ้ำ จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ถึงกับเป็นเหตุอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพพนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสองคนละ 200 บาทโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยินยอม หากผลของการทำร้ายร่างกายโจทก์มีเท่าที่แพทย์ของโรงพยาบาลตรวจพบครั้งแรกดังกล่าวก็เป็นเพียงความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เมื่อพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองชำระค่าปรับแล้ว คดีย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37 (2) สิทธินำคดีอาญาในความผิดลหุโทษของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3)
              แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันเดียวกันโจทก์เกิดอาการมึนศีรษะและอาเจียนจึงกลับไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมตรวจใหม่แพทย์ส่งตัวโจทก์ไปตรวจเอกซเรย์สมองทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าสมองได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่งต้องรักษานานประมาณ 30 วัน โดยโจทก์อ้างว่าเป็นผลเกิดจากถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แท่งเหล็กกลวงตี หากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างคดีก็ไม่อาจเลิกกันได้เพราะกรณีมิใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป โจทก์มีอำนาจฟ้อง

หมายเหตุ
             เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวซึ่งเป็นทั้งความผิดลหุโทษและมิใช่ลหุโทษ การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาในความผิดลหุโทษแต่อย่างเดียวแล้วเปรียบเทียบปรับไปเป็นการไม่ชอบ ไม่ทำให้คดีเลิกกันพนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดที่มิใช่ลหุโทษได้
             ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516 ที่ยกมา ถือว่าการเปรียบเทียบปรับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลก็คือ ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกเปรียบเทียบปรับมาก่อน ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษโดยตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดได้ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยได้ถูกเปรียบเทียบปรับมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานกันมานั้นถูกต้องเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่าย มิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้มีการเปรียบเทียบปรับแล้วทำให้คดีอาญาที่มีโทษหนักที่สุดพลอยระงับไปด้วยซึ่งจะไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เสียหาย
             มีข้อเท็จจริงที่คล้าย ๆ กันกับข้อเท็จจริงในคดีนี้แต่ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแตกต่างไป คือกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ทำให้ไม่สามารถที่จะฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดกรรมเดียวกันนั้นได้อีก เช่น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ หากโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ต่อมาผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีข้อวินิจฉัยว่า จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัสได้หรือไม่ เดิมมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2481,149/2483 และ 1742/2494 ตัดสินไว้ว่า ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว แม้ศาลจะได้พิพากษาคดีอื่นที่ฟ้องภายหลัง แต่เป็นมูลกรณีเดียวกันนั้นเสร็จเด็ดขาดไปก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะดำเนินคดีที่ฟ้องไว้ก่อนนั้นต่อไป
              แต่ต่อมาศาลฎีกาได้กลับแนวคำพิพากษาดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า เมื่อมีการดำเนินคดีและศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ไม่สามารถที่จะฟ้องจำเลยในการกระทำกรรมเดียวในฐานความผิดที่สูงกว่าอีกได้ เช่น
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2492 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว เมื่อผู้ถูกทำร้ายตาย โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายไม่ได้ ไม่ว่าจะได้ยื่นฟ้องในระหว่างคดีไม่ถึงที่สุดหรือคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม
             แนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น แดงปาระเบิดใส่ฝูงชน เป็นเหตุให้ดำถึงแก่ความตาย และเหลืองได้รับอันตรายแก่กาย หากแดงสมรู้กับเหลืองได้ โดยเหลืองยื่นฟ้องแดงเป็นจำเลย แดงรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษแดงฐานทำร้ายร่างกายเหลือง เช่นนี้ จะทำให้พนักงานอัยการหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนดำไม่สามารถดำเนินคดีแดงได้อีกต่อไป หากเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ น่าจะถือได้ว่า การที่เหลืองดำเนินคดีแดงนั้น ไม่ทำให้คดีที่มีโทษหนักกว่าคือข้อหาฆ่าดำถึงแก่ความระงับไป เพียงแต่โทษที่แดงได้รับในคดีที่เหลืองฟ้องแดงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโทษที่จะลงแก่แดงในกรณีที่กระทำความผิดต่อดำ ก็จะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
           "ศิริชัย วัฒนโยธิน"