วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

การกระทำโดยทารุณโหดร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6083/2546
ป.อ. มาตรา 289
ป.วิ.อ. มาตรา 218
                 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) วางโทษประหารชีวิตลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) อีกบทหนึ่งด้วย ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) มาเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) และ 289(5) และยังคงจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(14) ได้นิยามศัพท์คำว่า "โจทก์ หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน"ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยควรได้รับโทษประหารชีวิต ศาลล่างทั้งสองไม่ควรลดโทษให้จำเลยเพราะคดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษนั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
                ปืนเป็นอาวุธโดยสภาพมีอำนาจทำลายล้างรุนแรงสามารถทำอันตรายบุคคลและสัตว์ให้ถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย กระสุนปืนเข้าทางขมับซ้ายทะลุออกขมับขวาแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายให้ตายทันที ดังนี้แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ตายไม่ได้ถึงแก่ความตายทันทีหลังจากถูกยิง และจำเลยใช้มีดตัดศีรษะผู้ตายขณะที่ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย แต่พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทำให้ผู้ตายได้รับความลำบากทรมานสาหัสก่อนตายและไม่ได้ความแจ้งชัดว่าจำเลยได้กระทำการอย่างไรอันเป็นการทรมานหรือทารุณโหดร้ายผู้ตาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตาย หลังจากนั้นจึงใช้มีดตัดคอผู้ตายประกอบกับจำเลยได้ใช้มีดชำแหละศพผู้ตายออกเป็นชิ้น ๆ แล้วทิ้งชิ้นส่วนศพบางส่วนลงในส้วมชักโครก กับนำชิ้นส่วนศพบางส่วนไปทิ้งที่แม่น้ำบางประกง น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาทำลายศพเพื่อปิดบังการตาย หรือเหตุแห่งการตายของผู้ตายเท่านั้น มิใช่เพื่อให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดทรมานจนกระทั่งขาดใจตายถือไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5)
                จำเลยเป็นนักศึกษา ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์ที่มีค่ามากหรือมีผู้ปองร้ายหมายเอาชีวิตจำเลย แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีทรัพย์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์และรถยนต์ ก็เป็นทรัพย์ที่บุคคลมีกันโดยทั่วไป ถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีค่ามากถึงขนาดที่จำเลยต้องนำอาวุธปืนมาไว้สำหรับป้องกันทรัพย์ดังที่จำเลยฎีกา ห้องพักที่เกิดเหตุเป็นห้องเช่าซึ่งไม่มีห้องครัวทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทำครัวปรุงอาหารเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยต้องมีมีดทำครัวที่มีความคมถึงขนาดใช้ชำแหละศพได้ไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ การที่จำเลยมีอาวุธปืนและมีดดังกล่าวไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่อาจฟังเป็นอย่างอื่นนอกจากจำเลยตระเตรียมไว้สำหรับฆ่าผู้ตายและชำแหละศพผู้ตาย ส่วนของศพที่ชำแหละแล้วย่อมมีกลิ่นคาวและมีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลซึมออกมา การนำออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้งย่อมต้องใช้วัสดุสิ่งของสำหรับห่อหุ้มและบรรจุ เช่น ผ้า กระดาษ ถุงพลาสติกและกล่อง เป็นต้น เพื่อดูดซับน้ำเลือดน้ำเหลืองและกลิ่นคาว รวมทั้งปกปิดไม่ให้มีผู้พบเห็นว่าเป็นชิ้นส่วนของศพ การที่จำเลยสามารถนำชิ้นส่วนศพผู้ตายออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้ง นำอาวุธปืน มีดและทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำเสื้อผ้าของผู้ตายไปเผาทำลายภายในระยะเวลาอันสั้นโดยไม่มีผู้พบเห็น แสดงว่าจำเลยได้วางแผนเกี่ยวกับสถานที่ที่จะนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้ง นำทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อนและจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว
               ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง คือ ความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม กรณีไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  576 - 577/2546
ป.อ. มาตรา 289(5)
             แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีพยานมาเบิกความให้เห็นว่า นับจากเวลาที่ผู้ตายทั้งสามถูกนำตัวขึ้นรถไปจนถึงเวลาที่ผู้ตายทั้งสามถูกฆ่านั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกที่หลบหนีได้กระทำอย่างไรบ้าง 
             แต่จากบาดแผลที่ผู้ตายทั้งสามได้รับตามรายงานตรวจศพของแพทย์ ปรากฏว่าผู้ตายทั้งสามมีบาดแผลที่บริเวณศรีษะเป็นจำนวนมาก บาดแผลส่วนใหญ่เกิดจากถูกตีด้วยของแข็งที่มีน้ำหนักมากจนกะโหลกศรีษะของแต่ละคนแตกกระจายทั่วไปเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มีเนื้อสมองออกมาจากบาดแผล 
             สำหรับ ส.และ ช.ผู้ตายยังพบเศษดินโคลนและน้ำในหลอดลม ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าผู้ตายทั้งสามถึงแก่ความตายเนื่องจากสมองถูกทำลายจากของแข็งกระทบกระแทกและขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ 
             ชี้ให้เห็นว่าก่อนผู้ตายทั้งสามจะถึงแก่ความตาย ได้ถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกใช้ของแข็งไม่มีคมทุบตีที่บริเวณศรีษะอย่างรุนแรงหลายครั้งจนกะโหลกศรีษะแตกกระจายเนื้อสมองไหลออกมาจากบาดแผล หลังจากนั้นยังถูกนำไปทิ้งน้ำทิ้งที่ยังมีชีวิตอยู่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีเจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสามโดยการทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย