วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หลักการสืบสวนสอบสวนโดยฉับพลัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3153/2535
ป.อ. มาตรา 288
ป.วิ.อ. มาตรา 226, 227
              โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยกระทำผิด แต่ได้ความจากมารดา พี่น้องและเพื่อนผู้ตายว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเคยปรับทุกข์ว่ามีเหตุทะเลาะกับจำเลย เพราะจำเลยติดพันฉันชู้สาวกับผู้หญิงอื่น ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถมากับผู้ตายเพียงสองต่อสอง ผู้ตายถูกยิงภายนอกรถใกล้รถยนต์ที่จอดอยู่ ถูกอวัยวะสำคัญในลักษณะจ่อยิง ทันใดจำเลยวิ่งออกมาจากจุดเกิดเหตุ ขอความช่วยเหลือจาก ล. และ ค. ที่วัด บอกว่าขณะจอดรถปัสสาวะ ผู้ตายนั่งคอยอยู่ในรถ มีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์เข้ามายิง แต่เมื่อ ล. กับ ค. ไปถึง กลับพบว่าผู้ตายนอนตายอยู่ที่ไหล่ถนนติดประตูหน้ารถข้างซ้าย รถอยู่ในลักษณะที่ปิดประตูไว้ทั้งสองข้าง เปิดไฟฟ้าภายในรถกับไฟหรี่หน้ารถไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งไม่พบร่องรอยที่จำเลยอ้างว่ายืนถ่ายปัสสาวะทางด้านท้ายรถประมาณ 3 เมตร ไม่พบร่องรอยจุดซึ่งจำเลยอ้างว่าวิ่งไปหลบซ่อนคนร้าย ทั้ง ๆ ที่ ดินบริเวณนั้นมีความอ่อนนุ่ม ถ้าเหยียบจะเป็นรอยเท้า และไม่พบร่องรอยกระสุนปืนภายในรถคันเกิดเหตุ ทั้ง ๆ ที่จำเลยอ้างในที่เกิดเหตุว่าคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาจอดด้านคนขับแล้วใช้อาวุธปืนลูกซองยิงผู้ตายซึ่งนั่งอยู่ภายในรถข้างที่นั่งคนขับ จำเลยยืนถ่ายปัสสาวะอยู่ห่างจากรถซึ่งเปิดไฟฟ้าภายในรถประมาณ 3 เมตร จำเลยน่าจะเห็นและจดจำลักษณะรูปพรรณสัณฐานคนร้ายได้และรีบแจ้งให้ตำรวจสกัดจับหรือสืบจับคนร้ายทันที แต่จำเลยไม่ได้กระทำเช่นนั้น ถ้าจำเลยและผู้ตายมีศัตรูที่จะทำอันตรายถึงชีวิต คนร้ายก็น่าจะเป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์ติดตามหรือดักทำร้าย ไม่ใช่ขับรถสวนทางมา ทั้งจำเลยก็อ้างว่าคนร้ายเรียกชื่อจำเลยก่อน แสดงว่าคนร้ายมุ่งฆ่าจำเลย เหตุใดคนร้ายกลับใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ซึ่งคนร้ายสามารถมองเห็นจากไฟฟ้าภายในรถ โดยไม่ติดตามยิงจำเลยซึ่งยืนอยู่ห่างเพียง 3 เมตร และเมื่อมีการตรวจพิสูจน์เขม่าดินปืนที่มือของจำเลยก็พบธาตุแอนติโมนีและธาตุแบเรียม ซึ่งปกติพบในเขม่าดินปืน ดังนั้น พยานแวดล้อมกรณีดังกล่าวมั่นคงเพียงพอฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายจริง ข้ออ้างการนำสืบของจำเลยที่ว่าคนร้ายขับรถจักรยานยนต์เข้ามายิงผู้ตายขณะจำเลยยืนถ่ายปัสสาวะอยู่นั้น มีพิรุธไม่น่าเชื่อ.

หมายเหตุ
          หลักการสืบสวนสอบสวน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
          1.  การสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น ประกอบด้วย การตรวจค้นสถานที่เกิดเหตุโดยฉับพลันเร่งด่วน (A Hot Search) กับการตรวจค้นบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดครอบคลุมประเด็นสงสัยเพิ่มเติม เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริงดำเนินการสืบเนื่องต่อจากการตรวจค้นแบบฉับพลันเร่งด่วนในขั้นแรก เรียกว่าการตรวจค้นแบบอบอุ่น (A Warm Search) เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องไปปรากฏตัวในที่เกิดเหตุในทันทีทันใด เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงหรือจับกุมบุคคลผู้กระทำผิด สาระสำคัญแห่งการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น จะต้องสอบให้ทราบว่าการกระทำผิดที่เกิดขึ้นนั้นมีใครเป็นผู้กระทำผิด (Who) มีอะไรเกิดขึ้น (What) เกิดขึ้นเมื่อใด (When) ณ สถานที่แห่งใด (Where) ทำไมจึงเกิดเหตุ (Why) เกิดเหตุในลักษณะอย่างไร (How)
          2.  การสืบสวนสอบสวนต่อเนื่อง เป็นกระบวนการปฏิบัติสืบต่อจากการสืบสวนวอบสวนเบื้องต้นเพื่อประโยชน์ในการเสาะหาร่องรอยข้อเท็จจริง หรือเงื่อนงำ ประจักษ์พยานหลักฐานของอาชญากรรมและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดโดยพนักงานสอบสวน จนสามารถทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ในที่สุด นับเป็นกระบวนการปฏิบัติว่าด้วยการตรวจค้นเพิ่มเติมภายหลัง จากการตรวจค้นแบบฉับพลันเร่งด่วน (A Hot Search) และการตรวจค้นแบบอบอุ่น (A Warm Search) มาแล้ว ทั้งยังเป็นการใช้ความถี่ถ้วน รอบคอบศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมอย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม โดยเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า การตรวจค้นแบบเยือกเย็น (A Cold Search) อันประกอบด้วยการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
          (1)  ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งการจับกุมผู้กระทำผิด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับการกระทำผิด
          (2)  ดำเนินการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ทราบถึงแผนการประกอบอาชญากรรมของผู้กระทำผิดโดยละเอียด
          (3)  ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์ข่าวสาร และประจักษ์พยานสำคัญเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี

          (4)  ดำเนินการตรวจสอบและตรวจตราสถานที่เกิดเหตุและสถานที่อันควรสงสัย ได้แก่ สถานเริงรมย์ โรงแรม โรงรับจำนำ ร้านจำหน่ายหรือรับซื้อสินค้าที่ใช้แล้ว รวมทั้งการเสาะหาทรัพย์สินที่สูญหายหรือถูกโจรกรรม
          (5)  ดำเนินการสืบเสาะค้นหาพยานบุคคล สนทนาไถ่ถามพยานบุคคลหรือทบทวนไถ่ถามเพิ่มเติมตามความจำเป็นแห่งคดี
          (6)  ดำเนินการคุ้มครองพยานบุคคล หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีให้ปลอดภัยจากการถูกทำร้าย หรือขู่เข็ญ และรักษาความลับของพยานอย่างเข้มงวดกวดขัน
          (7)  ดำเนินการตรวจสอบ ประเมินข้อเท็จจริงจากรายงาน และประจักษ์พยานหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งจำต้องขอความร่วมมือประสานงานกับหน่วยวิทยาการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
          (8)  ดำเนินการจับ หรือประกาศจับกุมผู้กระทำผิด ผู้สนับสนุนหรือผู้สมรู้ร่วมคิด
          (9)  ดำเนินการติดตาม สืบเสาะ ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัยและสอบถามปากคำผู้ต้องสงสัย รวมทั้งดำเนินการทดสอบข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบถามปากคำนั้น ๆ
          (10)  ดำเนินการจัดทำสำนวนสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องและร่วมปรึกษาหารือการฟ้องร้องดำเนินคดีกับพนักงานอัยการ
           การแบ่งประเภทการสืบสวนดังกล่าว นับเป็นกระบวนการที่ก้าวไปสู่เป้าหมายของการสืบสาวเรื่องราว ไปจนถึงต้นเหตุแห่งการกระทำผิดหรือบุคคลผู้กระทำผิดนั้น ๆ จากนั้นเป็นขั้นตอนแห่งการรวบรวมการสอบสวนเข้าสำนวนและการทำความเห็นของพนักงานสอบสวน เสนอให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดต่อไป ข้อเท็จจริงที่ได้ดำเนินการภายใต้กระบวนการสืบสวนสอบสวนตามหลักวิชาการเช่นนี้ ย่อมพิสูจน์การกระทำผิดได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม
           ซึ่งในคดีอาญา พยานหลักฐานที่น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนกว่าจะแน่ใจตามมาตรา 227 หลักที่จะพิสูจน์ความจริงจนกว่าจะแน่ใจนั้นแค่ไหนจึงจะถือว่าเพียงพอหรือไม่เพียงพอจำต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาเป็นเกณฑ์ แต่ก็ได้มีผู้พยายามตั้งหลักเกณฑ์ไว้ภายใต้แห่งตรรกวิทยา เพื่ออาศัยเป็นหลักในการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น ดังนี้
          1.  กฎแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายความว่า ข้อเท็จจริงอันหนึ่งหรือความจริงอันหนึ่งมีได้อย่างเดียว
          2.  กฎแห่งความขัดกัน หมายความว่า ถ้าไม่จริงก็ต้องแตกต่างกันเพราะเหตุถ้าเป็นความจริงแล้วจะขัดกันไม่ได้
          3.  กฎแห่งความเป็นครึ่ง ๆ กลาง ๆ หมายความว่า อะไรที่เป็นความจริงต้องเป็นความจริงตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นความจริงครึ่งหนึ่งไม่จริงครึ่งหนึ่ง หรือจริงบ้างไม่ได้
          4.  กฎแห่งความมีเหตุผลอันควร หมายความว่า การพิจารณาความจริงน่าจะต้องพิจารณาด้วยเหตุผลอันควร
           การที่จำเลยวิ่งไปขอความช่วยเหลือนาย ล. และนาย ค. ที่วัดบอกว่าขณะจอดรถถ่ายปัสสาวะ ผู้ตายนั่งคอยอยู่ในรถ มีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์เข้ามายิง แต่เมื่อนาย ล. กับนาย ค. ไปถึงกลับพบว่าผู้ตายนอนตายอยู่ที่ไหล่ถนนก็ดี การตรวจไม่พบรอยกระสุนในรถก็ดีตรวจไม่พบร่องรอยจุดที่จำเลยวิ่งไปหลบซ่อนก็ดี ตรวจพบเขม่าดินปืนที่มือจำเลยก็ดี เป็นข้อเท็จจริงที่ขัดกันกับคำของจำเลยตามกฎแห่งความขัดกัน การที่คนร้ายมุ่งฆ่าจำเลย แต่ยิงผู้ตายโดยไม่ตายยิงจำเลยก็ดี การที่คนร้ายขับรถสวนมายิงผู้ตายแทนที่จะขับรถติดตามมาหรือดักทำร้าย ข้อเท็จจริงเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นจริงแต่ก็รับฟังได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ตามกฎแห่งความเป็นครึ่ง ๆ กลาง ๆการที่จำเลยเห็นและน่าจะจดจำลักษณะรูปพรรณสัณฐานคนร้ายได้ จำเลยน่าจะรีบแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนร้ายแต่ไม่ทำย่อมเป็นการผิดวิสัย ไม่เป็นตามกฎแห่งเหตุและผลอันควร ข้ออ้างทางนำสืบของจำเลยที่ได้ความมาจึงไม่น่าเชื่อถือแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานแต่ตามพยานแวดล้อมกรณีที่ได้ความ เห็นว่า ผู้ตายเคยมีเรื่องทะเลาะกับจำเลยที่จำเลยไปติดพันชู้สาวหญิงอื่น การตรวจพบหลักฐานร่องรอยการต่อสู้กันตรงใกล้บริเวณที่ผู้ตายถูกยิง บาดแผลที่ผู้ตายถูกยิงในลักษณะจ่อยิงในระยะกระชั้นชิด ซึ่งพบเขม่าดินปืนที่บาดแผลทั้งสองแห่ง และการตรวจพบธาตุแอนติโมนีและธาตุแบเรียม ซึ่งปกติพบในเขม่าดินปืนที่มือของจำเลย ล้วนเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง จำเลยจึงเป็นผู้กระทำผิดในคดีนี้
           “พฤตินัย ทัศนัยพิทักษ์กุล”