วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1001/2547
ป.อ. มาตรา 297
ป.วิ.อ. มาตรา 218
               ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้นแม้จำเลยจะทำร้ายผู้เสียหายโดยมิได้มีเจตนาทำให้แท้งลูก เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 297(5)
               ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะผู้เสียหายนั่งอยู่บนแคร่จำเลยเดินเข้าไปตบผู้เสียหายจนตกจากแคร่ แล้วจิกผมให้ศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับเสา เมื่อมีผู้เข้าห้าม จำเลยก็ถีบที่ท้องของผู้เสียหาย อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2530
ป.อ. มาตรา 297(8)
                  ผู้เสียหายถูกแทงด้วยมีดปลายแหลมที่หน้าอกซ้าย ซึ่งเป็นที่สำคัญ หากปลายมีดเข้าไปถึงหัวใจหรือหลอดลมใหญ่และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็อาจถึงแก่ความตายได้ ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 8 วัน แล้วกลับมารักษาตัวที่บ้านอีก 1 เดือน แผลภายนอกหาย แต่ภายในยังเจ็บและเสียวอยู่ ผู้เสียหายต้องเลิกอาชีพรับจ้างไปทำงานอย่างอื่น เพราะไม่สามารถทำงานหนักต่อไปได้ ถึงขณะเบิกความก็ยังเจ็บหน้าอกอยู่เป็นบางครั้ง ดังนี้ ถือได้ว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 แล้ว