วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280 / 2555
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 364, 365 (1) (2) (3), 392
           ขณะที่ผู้เสียหายอยู่ที่บ้าน จำเลยและนาย บ. กับพวกได้ไปที่บ้านของผู้เสียหาย แล้วนาย บ. ได้ชกผู้เสียหายที่ใบหน้าบริเวณดั้งจมูก 1 ครั้ง จนดั้งจมูกหัก และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ผู้เสียหายก็ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในทันที ซึ่งนาย บ. ก็ถูกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยและนาย บ. กับพวกได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย และจำเลยพูดว่า "มึงแน่หรือที่อยู่ที่นี่มา 15 ถึง 16 ปี เอามันเลย" กับพูดว่า "ไอ้สัตว์ เดี๋ยวยิงทิ้งหมดเลย" อันเป็นความผิดฐาน บุกรุกและขู่ให้ผู้อื่นตกใจกลัว แต่การที่จำเลยพูดว่า เอามันเลย และนาย บ. เข้าทำร้ายผู้เสียหายโดยจำเลยไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหายด้วยนั้น เป็นการที่จำเลยก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84
            เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับนาย บ. และพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ แต่การที่จำเลยร้องบอกดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนให้นาย บ. กระทำความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 86 ศาลมีอำนาจวินิจฉัยปรับบทฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
              อนึ่ง ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิด 3 กรรม แยกเป็น ข้อรวม 3 ข้อ โดยข้อที่ 1 กล่าวแต่เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับนาย บ. บุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ตามมาตรา 365 (2) และ (3) ประกอบมาตรา 364 เท่านั้น มิได้บรรยายฟ้องว่าร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 365 (1) ประกอบ มาตรา 364 แต่อย่างใด ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับ อันตรายสาหัส กล่าวในฟ้องข้อ 3 แยกต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 365 (1) ประกอบมาตรา 364 ด้วย จึงเป็นการเกินคำขอและมิได้กล่าวมาในฟ้อง
           แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องฐานทำร้ายร่างกายแยกต่างหากในฟ้องข้อ 3 แต่เมื่อข้อเท็จจริง ได้ความว่าเมื่อจำเลยและนาย บ. เข้าไปในบ้านแล้ว นาย บ. จึงได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยจำเลยบอกให้ทำร้ายต่อเนื่องใกล้ชิดกัน เห็นได้ว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรงต่อการที่จะให้มีการทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งการทำร้ายของนาย บ. ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ส่อแสดงถึงความไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถาน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 อยู่ด้วย การที่จำเลยบอกให้นาย บ. ทำร้ายร่างกาย จึงเป็นกรรมเดียวกันกับการร่วมกันบุกรุกบ้านอันเป็นเคหสถาน
           จำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกาย ร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร และฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 86, มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 392 ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายและร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกัน บุกรุกฯ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4722/2550
ป.อ. มาตรา 90, 371, 376, 392
          อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพ สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย แม้อาวุธปืนดังกล่าวจะเป็นอาวุธปืนของบุคคลอื่นที่ได้รับใบอนุญาต แต่การที่จำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในที่เกิดเหตุและยังใช้อาวุธปืนดังกล่าวเล็งไปทางผู้เสียหายแล้วยิงปืน 1 นัด ให้กระสุนปืนเฉี่ยวไปไม่ถูกผู้เสียหาย เพื่อข่มขู่ผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยยังใช้อาวุธปืนดังกล่าวจ้องเล็งส่ายไปมาทางผู้เสียหาย พร้อมทั้งขู่เข็ญให้ผู้เสียหายลุกเดินออกไป ไม่ให้หันหน้าไปมองทางจำเลยอีกด้วย นับว่าจำเลยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองอันเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
           อนึ่ง โจทก์ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 ด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องด้วย แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรานี้ แต่กลับกำหนดโทษจำเลยฐานกระทำให้ผู้อื่นตกใจแล้วโดยการขู่เข็ญ จึงเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้องโดยเพียงแต่วงเล็บข้อความไว้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนที่กล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ที่ถูก มาตรา 392 ด้วย และที่ถูก ฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ไว้เท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 392 อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 ให้ลงโทษฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลับโดยการขู่เข็ญ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หลักการสืบสวนสอบสวนโดยฉับพลัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3153/2535
ป.อ. มาตรา 288
ป.วิ.อ. มาตรา 226, 227
              โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยกระทำผิด แต่ได้ความจากมารดา พี่น้องและเพื่อนผู้ตายว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเคยปรับทุกข์ว่ามีเหตุทะเลาะกับจำเลย เพราะจำเลยติดพันฉันชู้สาวกับผู้หญิงอื่น ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถมากับผู้ตายเพียงสองต่อสอง ผู้ตายถูกยิงภายนอกรถใกล้รถยนต์ที่จอดอยู่ ถูกอวัยวะสำคัญในลักษณะจ่อยิง ทันใดจำเลยวิ่งออกมาจากจุดเกิดเหตุ ขอความช่วยเหลือจาก ล. และ ค. ที่วัด บอกว่าขณะจอดรถปัสสาวะ ผู้ตายนั่งคอยอยู่ในรถ มีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์เข้ามายิง แต่เมื่อ ล. กับ ค. ไปถึง กลับพบว่าผู้ตายนอนตายอยู่ที่ไหล่ถนนติดประตูหน้ารถข้างซ้าย รถอยู่ในลักษณะที่ปิดประตูไว้ทั้งสองข้าง เปิดไฟฟ้าภายในรถกับไฟหรี่หน้ารถไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งไม่พบร่องรอยที่จำเลยอ้างว่ายืนถ่ายปัสสาวะทางด้านท้ายรถประมาณ 3 เมตร ไม่พบร่องรอยจุดซึ่งจำเลยอ้างว่าวิ่งไปหลบซ่อนคนร้าย ทั้ง ๆ ที่ ดินบริเวณนั้นมีความอ่อนนุ่ม ถ้าเหยียบจะเป็นรอยเท้า และไม่พบร่องรอยกระสุนปืนภายในรถคันเกิดเหตุ ทั้ง ๆ ที่จำเลยอ้างในที่เกิดเหตุว่าคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาจอดด้านคนขับแล้วใช้อาวุธปืนลูกซองยิงผู้ตายซึ่งนั่งอยู่ภายในรถข้างที่นั่งคนขับ จำเลยยืนถ่ายปัสสาวะอยู่ห่างจากรถซึ่งเปิดไฟฟ้าภายในรถประมาณ 3 เมตร จำเลยน่าจะเห็นและจดจำลักษณะรูปพรรณสัณฐานคนร้ายได้และรีบแจ้งให้ตำรวจสกัดจับหรือสืบจับคนร้ายทันที แต่จำเลยไม่ได้กระทำเช่นนั้น ถ้าจำเลยและผู้ตายมีศัตรูที่จะทำอันตรายถึงชีวิต คนร้ายก็น่าจะเป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์ติดตามหรือดักทำร้าย ไม่ใช่ขับรถสวนทางมา ทั้งจำเลยก็อ้างว่าคนร้ายเรียกชื่อจำเลยก่อน แสดงว่าคนร้ายมุ่งฆ่าจำเลย เหตุใดคนร้ายกลับใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ซึ่งคนร้ายสามารถมองเห็นจากไฟฟ้าภายในรถ โดยไม่ติดตามยิงจำเลยซึ่งยืนอยู่ห่างเพียง 3 เมตร และเมื่อมีการตรวจพิสูจน์เขม่าดินปืนที่มือของจำเลยก็พบธาตุแอนติโมนีและธาตุแบเรียม ซึ่งปกติพบในเขม่าดินปืน ดังนั้น พยานแวดล้อมกรณีดังกล่าวมั่นคงเพียงพอฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายจริง ข้ออ้างการนำสืบของจำเลยที่ว่าคนร้ายขับรถจักรยานยนต์เข้ามายิงผู้ตายขณะจำเลยยืนถ่ายปัสสาวะอยู่นั้น มีพิรุธไม่น่าเชื่อ.

หมายเหตุ
          หลักการสืบสวนสอบสวน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
          1.  การสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น ประกอบด้วย การตรวจค้นสถานที่เกิดเหตุโดยฉับพลันเร่งด่วน (A Hot Search) กับการตรวจค้นบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดครอบคลุมประเด็นสงสัยเพิ่มเติม เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริงดำเนินการสืบเนื่องต่อจากการตรวจค้นแบบฉับพลันเร่งด่วนในขั้นแรก เรียกว่าการตรวจค้นแบบอบอุ่น (A Warm Search) เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องไปปรากฏตัวในที่เกิดเหตุในทันทีทันใด เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงหรือจับกุมบุคคลผู้กระทำผิด สาระสำคัญแห่งการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น จะต้องสอบให้ทราบว่าการกระทำผิดที่เกิดขึ้นนั้นมีใครเป็นผู้กระทำผิด (Who) มีอะไรเกิดขึ้น (What) เกิดขึ้นเมื่อใด (When) ณ สถานที่แห่งใด (Where) ทำไมจึงเกิดเหตุ (Why) เกิดเหตุในลักษณะอย่างไร (How)
          2.  การสืบสวนสอบสวนต่อเนื่อง เป็นกระบวนการปฏิบัติสืบต่อจากการสืบสวนวอบสวนเบื้องต้นเพื่อประโยชน์ในการเสาะหาร่องรอยข้อเท็จจริง หรือเงื่อนงำ ประจักษ์พยานหลักฐานของอาชญากรรมและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดโดยพนักงานสอบสวน จนสามารถทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ในที่สุด นับเป็นกระบวนการปฏิบัติว่าด้วยการตรวจค้นเพิ่มเติมภายหลัง จากการตรวจค้นแบบฉับพลันเร่งด่วน (A Hot Search) และการตรวจค้นแบบอบอุ่น (A Warm Search) มาแล้ว ทั้งยังเป็นการใช้ความถี่ถ้วน รอบคอบศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมอย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม โดยเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า การตรวจค้นแบบเยือกเย็น (A Cold Search) อันประกอบด้วยการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
          (1)  ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งการจับกุมผู้กระทำผิด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับการกระทำผิด
          (2)  ดำเนินการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ทราบถึงแผนการประกอบอาชญากรรมของผู้กระทำผิดโดยละเอียด
          (3)  ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์ข่าวสาร และประจักษ์พยานสำคัญเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

การกระทำโดยทารุณโหดร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6083/2546
ป.อ. มาตรา 289
ป.วิ.อ. มาตรา 218
                 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) วางโทษประหารชีวิตลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) อีกบทหนึ่งด้วย ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) มาเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) และ 289(5) และยังคงจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(14) ได้นิยามศัพท์คำว่า "โจทก์ หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน"ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยควรได้รับโทษประหารชีวิต ศาลล่างทั้งสองไม่ควรลดโทษให้จำเลยเพราะคดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษนั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
                ปืนเป็นอาวุธโดยสภาพมีอำนาจทำลายล้างรุนแรงสามารถทำอันตรายบุคคลและสัตว์ให้ถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย กระสุนปืนเข้าทางขมับซ้ายทะลุออกขมับขวาแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายให้ตายทันที ดังนี้แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ตายไม่ได้ถึงแก่ความตายทันทีหลังจากถูกยิง และจำเลยใช้มีดตัดศีรษะผู้ตายขณะที่ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย แต่พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทำให้ผู้ตายได้รับความลำบากทรมานสาหัสก่อนตายและไม่ได้ความแจ้งชัดว่าจำเลยได้กระทำการอย่างไรอันเป็นการทรมานหรือทารุณโหดร้ายผู้ตาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตาย หลังจากนั้นจึงใช้มีดตัดคอผู้ตายประกอบกับจำเลยได้ใช้มีดชำแหละศพผู้ตายออกเป็นชิ้น ๆ แล้วทิ้งชิ้นส่วนศพบางส่วนลงในส้วมชักโครก กับนำชิ้นส่วนศพบางส่วนไปทิ้งที่แม่น้ำบางประกง น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาทำลายศพเพื่อปิดบังการตาย หรือเหตุแห่งการตายของผู้ตายเท่านั้น มิใช่เพื่อให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดทรมานจนกระทั่งขาดใจตายถือไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5)
                จำเลยเป็นนักศึกษา ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์ที่มีค่ามากหรือมีผู้ปองร้ายหมายเอาชีวิตจำเลย แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีทรัพย์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์และรถยนต์ ก็เป็นทรัพย์ที่บุคคลมีกันโดยทั่วไป ถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีค่ามากถึงขนาดที่จำเลยต้องนำอาวุธปืนมาไว้สำหรับป้องกันทรัพย์ดังที่จำเลยฎีกา ห้องพักที่เกิดเหตุเป็นห้องเช่าซึ่งไม่มีห้องครัวทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทำครัวปรุงอาหารเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยต้องมีมีดทำครัวที่มีความคมถึงขนาดใช้ชำแหละศพได้ไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ การที่จำเลยมีอาวุธปืนและมีดดังกล่าวไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่อาจฟังเป็นอย่างอื่นนอกจากจำเลยตระเตรียมไว้สำหรับฆ่าผู้ตายและชำแหละศพผู้ตาย ส่วนของศพที่ชำแหละแล้วย่อมมีกลิ่นคาวและมีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลซึมออกมา การนำออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้งย่อมต้องใช้วัสดุสิ่งของสำหรับห่อหุ้มและบรรจุ เช่น ผ้า กระดาษ ถุงพลาสติกและกล่อง เป็นต้น เพื่อดูดซับน้ำเลือดน้ำเหลืองและกลิ่นคาว รวมทั้งปกปิดไม่ให้มีผู้พบเห็นว่าเป็นชิ้นส่วนของศพ การที่จำเลยสามารถนำชิ้นส่วนศพผู้ตายออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้ง นำอาวุธปืน มีดและทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำเสื้อผ้าของผู้ตายไปเผาทำลายภายในระยะเวลาอันสั้นโดยไม่มีผู้พบเห็น แสดงว่าจำเลยได้วางแผนเกี่ยวกับสถานที่ที่จะนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้ง นำทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อนและจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว
               ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง คือ ความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม กรณีไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

ปรับทำร้ายร่างกายแต่บาดเจ็บสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  354/2541
ป.วิ.อ. มาตรา 28, 37, 39
             โจทก์แจ้งความกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ เมื่อพนักงานสอบสวนโทรศัพท์สอบถามไปยังโรงพยาบาลที่โจทก์ไปให้แพทย์ตรวจรักษามาก่อนหน้านั้นได้ความว่า โจทก์ถูกทำร้ายเพียงมีรอยฟกซ้ำ จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ถึงกับเป็นเหตุอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพพนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสองคนละ 200 บาทโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยินยอม หากผลของการทำร้ายร่างกายโจทก์มีเท่าที่แพทย์ของโรงพยาบาลตรวจพบครั้งแรกดังกล่าวก็เป็นเพียงความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เมื่อพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองชำระค่าปรับแล้ว คดีย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37 (2) สิทธินำคดีอาญาในความผิดลหุโทษของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3)
              แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันเดียวกันโจทก์เกิดอาการมึนศีรษะและอาเจียนจึงกลับไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมตรวจใหม่แพทย์ส่งตัวโจทก์ไปตรวจเอกซเรย์สมองทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าสมองได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่งต้องรักษานานประมาณ 30 วัน โดยโจทก์อ้างว่าเป็นผลเกิดจากถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แท่งเหล็กกลวงตี หากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างคดีก็ไม่อาจเลิกกันได้เพราะกรณีมิใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป โจทก์มีอำนาจฟ้อง

หมายเหตุ
             เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวซึ่งเป็นทั้งความผิดลหุโทษและมิใช่ลหุโทษ การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาในความผิดลหุโทษแต่อย่างเดียวแล้วเปรียบเทียบปรับไปเป็นการไม่ชอบ ไม่ทำให้คดีเลิกกันพนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดที่มิใช่ลหุโทษได้
             ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516 ที่ยกมา ถือว่าการเปรียบเทียบปรับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลก็คือ ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกเปรียบเทียบปรับมาก่อน ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษโดยตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดได้ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยได้ถูกเปรียบเทียบปรับมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานกันมานั้นถูกต้องเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่าย มิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้มีการเปรียบเทียบปรับแล้วทำให้คดีอาญาที่มีโทษหนักที่สุดพลอยระงับไปด้วยซึ่งจะไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เสียหาย
             มีข้อเท็จจริงที่คล้าย ๆ กันกับข้อเท็จจริงในคดีนี้แต่ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแตกต่างไป คือกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ทำให้ไม่สามารถที่จะฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดกรรมเดียวกันนั้นได้อีก เช่น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ หากโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ต่อมาผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีข้อวินิจฉัยว่า จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัสได้หรือไม่ เดิมมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2481,149/2483 และ 1742/2494 ตัดสินไว้ว่า ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว แม้ศาลจะได้พิพากษาคดีอื่นที่ฟ้องภายหลัง แต่เป็นมูลกรณีเดียวกันนั้นเสร็จเด็ดขาดไปก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะดำเนินคดีที่ฟ้องไว้ก่อนนั้นต่อไป
              แต่ต่อมาศาลฎีกาได้กลับแนวคำพิพากษาดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า เมื่อมีการดำเนินคดีและศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ไม่สามารถที่จะฟ้องจำเลยในการกระทำกรรมเดียวในฐานความผิดที่สูงกว่าอีกได้ เช่น
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2492 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว เมื่อผู้ถูกทำร้ายตาย โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายไม่ได้ ไม่ว่าจะได้ยื่นฟ้องในระหว่างคดีไม่ถึงที่สุดหรือคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม
             แนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น แดงปาระเบิดใส่ฝูงชน เป็นเหตุให้ดำถึงแก่ความตาย และเหลืองได้รับอันตรายแก่กาย หากแดงสมรู้กับเหลืองได้ โดยเหลืองยื่นฟ้องแดงเป็นจำเลย แดงรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษแดงฐานทำร้ายร่างกายเหลือง เช่นนี้ จะทำให้พนักงานอัยการหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนดำไม่สามารถดำเนินคดีแดงได้อีกต่อไป หากเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ น่าจะถือได้ว่า การที่เหลืองดำเนินคดีแดงนั้น ไม่ทำให้คดีที่มีโทษหนักกว่าคือข้อหาฆ่าดำถึงแก่ความระงับไป เพียงแต่โทษที่แดงได้รับในคดีที่เหลืองฟ้องแดงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโทษที่จะลงแก่แดงในกรณีที่กระทำความผิดต่อดำ ก็จะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
           "ศิริชัย วัฒนโยธิน"