วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

การกระทำโดยทารุณโหดร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6083/2546
ป.อ. มาตรา 289
ป.วิ.อ. มาตรา 218
                 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) วางโทษประหารชีวิตลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) อีกบทหนึ่งด้วย ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) มาเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) และ 289(5) และยังคงจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(14) ได้นิยามศัพท์คำว่า "โจทก์ หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน"ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยควรได้รับโทษประหารชีวิต ศาลล่างทั้งสองไม่ควรลดโทษให้จำเลยเพราะคดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษนั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
                ปืนเป็นอาวุธโดยสภาพมีอำนาจทำลายล้างรุนแรงสามารถทำอันตรายบุคคลและสัตว์ให้ถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย กระสุนปืนเข้าทางขมับซ้ายทะลุออกขมับขวาแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายให้ตายทันที ดังนี้แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ตายไม่ได้ถึงแก่ความตายทันทีหลังจากถูกยิง และจำเลยใช้มีดตัดศีรษะผู้ตายขณะที่ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย แต่พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทำให้ผู้ตายได้รับความลำบากทรมานสาหัสก่อนตายและไม่ได้ความแจ้งชัดว่าจำเลยได้กระทำการอย่างไรอันเป็นการทรมานหรือทารุณโหดร้ายผู้ตาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตาย หลังจากนั้นจึงใช้มีดตัดคอผู้ตายประกอบกับจำเลยได้ใช้มีดชำแหละศพผู้ตายออกเป็นชิ้น ๆ แล้วทิ้งชิ้นส่วนศพบางส่วนลงในส้วมชักโครก กับนำชิ้นส่วนศพบางส่วนไปทิ้งที่แม่น้ำบางประกง น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาทำลายศพเพื่อปิดบังการตาย หรือเหตุแห่งการตายของผู้ตายเท่านั้น มิใช่เพื่อให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดทรมานจนกระทั่งขาดใจตายถือไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5)
                จำเลยเป็นนักศึกษา ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์ที่มีค่ามากหรือมีผู้ปองร้ายหมายเอาชีวิตจำเลย แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีทรัพย์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์และรถยนต์ ก็เป็นทรัพย์ที่บุคคลมีกันโดยทั่วไป ถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีค่ามากถึงขนาดที่จำเลยต้องนำอาวุธปืนมาไว้สำหรับป้องกันทรัพย์ดังที่จำเลยฎีกา ห้องพักที่เกิดเหตุเป็นห้องเช่าซึ่งไม่มีห้องครัวทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทำครัวปรุงอาหารเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยต้องมีมีดทำครัวที่มีความคมถึงขนาดใช้ชำแหละศพได้ไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ การที่จำเลยมีอาวุธปืนและมีดดังกล่าวไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่อาจฟังเป็นอย่างอื่นนอกจากจำเลยตระเตรียมไว้สำหรับฆ่าผู้ตายและชำแหละศพผู้ตาย ส่วนของศพที่ชำแหละแล้วย่อมมีกลิ่นคาวและมีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลซึมออกมา การนำออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้งย่อมต้องใช้วัสดุสิ่งของสำหรับห่อหุ้มและบรรจุ เช่น ผ้า กระดาษ ถุงพลาสติกและกล่อง เป็นต้น เพื่อดูดซับน้ำเลือดน้ำเหลืองและกลิ่นคาว รวมทั้งปกปิดไม่ให้มีผู้พบเห็นว่าเป็นชิ้นส่วนของศพ การที่จำเลยสามารถนำชิ้นส่วนศพผู้ตายออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้ง นำอาวุธปืน มีดและทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำเสื้อผ้าของผู้ตายไปเผาทำลายภายในระยะเวลาอันสั้นโดยไม่มีผู้พบเห็น แสดงว่าจำเลยได้วางแผนเกี่ยวกับสถานที่ที่จะนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้ง นำทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อนและจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว
               ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง คือ ความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม กรณีไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

ปรับทำร้ายร่างกายแต่บาดเจ็บสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  354/2541
ป.วิ.อ. มาตรา 28, 37, 39
             โจทก์แจ้งความกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ เมื่อพนักงานสอบสวนโทรศัพท์สอบถามไปยังโรงพยาบาลที่โจทก์ไปให้แพทย์ตรวจรักษามาก่อนหน้านั้นได้ความว่า โจทก์ถูกทำร้ายเพียงมีรอยฟกซ้ำ จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ถึงกับเป็นเหตุอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพพนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสองคนละ 200 บาทโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยินยอม หากผลของการทำร้ายร่างกายโจทก์มีเท่าที่แพทย์ของโรงพยาบาลตรวจพบครั้งแรกดังกล่าวก็เป็นเพียงความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เมื่อพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองชำระค่าปรับแล้ว คดีย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37 (2) สิทธินำคดีอาญาในความผิดลหุโทษของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3)
              แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันเดียวกันโจทก์เกิดอาการมึนศีรษะและอาเจียนจึงกลับไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมตรวจใหม่แพทย์ส่งตัวโจทก์ไปตรวจเอกซเรย์สมองทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าสมองได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่งต้องรักษานานประมาณ 30 วัน โดยโจทก์อ้างว่าเป็นผลเกิดจากถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แท่งเหล็กกลวงตี หากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างคดีก็ไม่อาจเลิกกันได้เพราะกรณีมิใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป โจทก์มีอำนาจฟ้อง

หมายเหตุ
             เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวซึ่งเป็นทั้งความผิดลหุโทษและมิใช่ลหุโทษ การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาในความผิดลหุโทษแต่อย่างเดียวแล้วเปรียบเทียบปรับไปเป็นการไม่ชอบ ไม่ทำให้คดีเลิกกันพนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดที่มิใช่ลหุโทษได้
             ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516 ที่ยกมา ถือว่าการเปรียบเทียบปรับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลก็คือ ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกเปรียบเทียบปรับมาก่อน ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษโดยตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดได้ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยได้ถูกเปรียบเทียบปรับมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานกันมานั้นถูกต้องเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่าย มิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้มีการเปรียบเทียบปรับแล้วทำให้คดีอาญาที่มีโทษหนักที่สุดพลอยระงับไปด้วยซึ่งจะไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เสียหาย
             มีข้อเท็จจริงที่คล้าย ๆ กันกับข้อเท็จจริงในคดีนี้แต่ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแตกต่างไป คือกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ทำให้ไม่สามารถที่จะฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดกรรมเดียวกันนั้นได้อีก เช่น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ หากโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ต่อมาผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีข้อวินิจฉัยว่า จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัสได้หรือไม่ เดิมมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2481,149/2483 และ 1742/2494 ตัดสินไว้ว่า ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว แม้ศาลจะได้พิพากษาคดีอื่นที่ฟ้องภายหลัง แต่เป็นมูลกรณีเดียวกันนั้นเสร็จเด็ดขาดไปก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะดำเนินคดีที่ฟ้องไว้ก่อนนั้นต่อไป
              แต่ต่อมาศาลฎีกาได้กลับแนวคำพิพากษาดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า เมื่อมีการดำเนินคดีและศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ไม่สามารถที่จะฟ้องจำเลยในการกระทำกรรมเดียวในฐานความผิดที่สูงกว่าอีกได้ เช่น
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2492 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว เมื่อผู้ถูกทำร้ายตาย โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายไม่ได้ ไม่ว่าจะได้ยื่นฟ้องในระหว่างคดีไม่ถึงที่สุดหรือคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม
             แนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น แดงปาระเบิดใส่ฝูงชน เป็นเหตุให้ดำถึงแก่ความตาย และเหลืองได้รับอันตรายแก่กาย หากแดงสมรู้กับเหลืองได้ โดยเหลืองยื่นฟ้องแดงเป็นจำเลย แดงรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษแดงฐานทำร้ายร่างกายเหลือง เช่นนี้ จะทำให้พนักงานอัยการหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนดำไม่สามารถดำเนินคดีแดงได้อีกต่อไป หากเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ น่าจะถือได้ว่า การที่เหลืองดำเนินคดีแดงนั้น ไม่ทำให้คดีที่มีโทษหนักกว่าคือข้อหาฆ่าดำถึงแก่ความระงับไป เพียงแต่โทษที่แดงได้รับในคดีที่เหลืองฟ้องแดงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโทษที่จะลงแก่แดงในกรณีที่กระทำความผิดต่อดำ ก็จะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
           "ศิริชัย วัฒนโยธิน"