วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280 / 2555
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 364, 365 (1) (2) (3), 392
           ขณะที่ผู้เสียหายอยู่ที่บ้าน จำเลยและนาย บ. กับพวกได้ไปที่บ้านของผู้เสียหาย แล้วนาย บ. ได้ชกผู้เสียหายที่ใบหน้าบริเวณดั้งจมูก 1 ครั้ง จนดั้งจมูกหัก และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ผู้เสียหายก็ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในทันที ซึ่งนาย บ. ก็ถูกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยและนาย บ. กับพวกได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย และจำเลยพูดว่า "มึงแน่หรือที่อยู่ที่นี่มา 15 ถึง 16 ปี เอามันเลย" กับพูดว่า "ไอ้สัตว์ เดี๋ยวยิงทิ้งหมดเลย" อันเป็นความผิดฐาน บุกรุกและขู่ให้ผู้อื่นตกใจกลัว แต่การที่จำเลยพูดว่า เอามันเลย และนาย บ. เข้าทำร้ายผู้เสียหายโดยจำเลยไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหายด้วยนั้น เป็นการที่จำเลยก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84
            เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับนาย บ. และพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ แต่การที่จำเลยร้องบอกดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนให้นาย บ. กระทำความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 86 ศาลมีอำนาจวินิจฉัยปรับบทฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
              อนึ่ง ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิด 3 กรรม แยกเป็น ข้อรวม 3 ข้อ โดยข้อที่ 1 กล่าวแต่เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับนาย บ. บุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ตามมาตรา 365 (2) และ (3) ประกอบมาตรา 364 เท่านั้น มิได้บรรยายฟ้องว่าร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 365 (1) ประกอบ มาตรา 364 แต่อย่างใด ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับ อันตรายสาหัส กล่าวในฟ้องข้อ 3 แยกต่างหาก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 365 (1) ประกอบมาตรา 364 ด้วย จึงเป็นการเกินคำขอและมิได้กล่าวมาในฟ้อง
           แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องฐานทำร้ายร่างกายแยกต่างหากในฟ้องข้อ 3 แต่เมื่อข้อเท็จจริง ได้ความว่าเมื่อจำเลยและนาย บ. เข้าไปในบ้านแล้ว นาย บ. จึงได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยจำเลยบอกให้ทำร้ายต่อเนื่องใกล้ชิดกัน เห็นได้ว่ามีเจตนาประสงค์ต่อผลโดยตรงต่อการที่จะให้มีการทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งการทำร้ายของนาย บ. ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ส่อแสดงถึงความไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถาน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 อยู่ด้วย การที่จำเลยบอกให้นาย บ. ทำร้ายร่างกาย จึงเป็นกรรมเดียวกันกับการร่วมกันบุกรุกบ้านอันเป็นเคหสถาน
           จำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกาย ร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร และฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 86, มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 392 ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายและร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกัน บุกรุกฯ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4722/2550
ป.อ. มาตรา 90, 371, 376, 392
          อาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพ สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้โดยง่าย แม้อาวุธปืนดังกล่าวจะเป็นอาวุธปืนของบุคคลอื่นที่ได้รับใบอนุญาต แต่การที่จำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในที่เกิดเหตุและยังใช้อาวุธปืนดังกล่าวเล็งไปทางผู้เสียหายแล้วยิงปืน 1 นัด ให้กระสุนปืนเฉี่ยวไปไม่ถูกผู้เสียหาย เพื่อข่มขู่ผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยยังใช้อาวุธปืนดังกล่าวจ้องเล็งส่ายไปมาทางผู้เสียหาย พร้อมทั้งขู่เข็ญให้ผู้เสียหายลุกเดินออกไป ไม่ให้หันหน้าไปมองทางจำเลยอีกด้วย นับว่าจำเลยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองอันเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
           อนึ่ง โจทก์ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 ด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องด้วย แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรานี้ แต่กลับกำหนดโทษจำเลยฐานกระทำให้ผู้อื่นตกใจแล้วโดยการขู่เข็ญ จึงเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้องโดยเพียงแต่วงเล็บข้อความไว้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนที่กล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ที่ถูก มาตรา 392 ด้วย และที่ถูก ฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ไว้เท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 392 อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 ให้ลงโทษฐานกระทำให้ผู้อื่นเกิดความตกใจกลับโดยการขู่เข็ญ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90